บทที่ 6 ปฏิทรรศน์อันศักดิ์สิทธิ์ (THE DIVINE PARADOX)
ปฏิทรรศน์ (Paradox) คือ ประโยคหรือกลุ่มประโยคที่ฟังดูขัดแย้งกันเอง หรือสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือความคิดทั่วไป โดยทั่วไปแล้ว ปฏิทรรศน์อาจจะไม่ใช่ข้อขัดแย้งจริง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่ข้อขัดแย้งจริง ๆ หรือข้อกำหนดในตอนต้นอาจไม่จริงหรือไม่สามารถเป็นจริงพร้อมๆ กันได้
สิ่งที่เราเป็นมา เป็นอยู่ และจะเป็นต่อไป คือปฏิทรรศน์แห่งจักรวาล ผลลัพธ์จากหลักการแห่งขั้วตรงข้าม ซึ่งประจักษ์ชัดเมื่อสรรพสิ่ง (THE ALL) เริ่มต้นการสร้างสรรค์ — จงเงี่ยหูฟังให้ดี เพราะมันชี้บอกความต่างระหว่างปัญญาครึ่งๆ กลางๆ กับปัญญาแท้จริง
ในขณะที่จักรวาล กฎเกณฑ์ พลังอำนาจ ชีวิต และปรากฏการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นเพียงภาพมายาที่สรรพสิ่งผู้ไร้ขอบเขตได้เห็นผ่านการทำสมาธิหรือห้วงฝัน… ทว่าสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง จักรวาลนี้ต้องได้รับการปฏิบัติเสมือนของจริง ชีวิต การกระทำ และความคิด จะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานนี้ แม้จะเข้าใจความจริงอันสูงส่งก็ตาม
ทุกสิ่งล้วนอยู่ในภพภูมิและกฎของตน หากสรรพสิ่งจินตนาการว่าจักรวาลคือความจริงแท้ หายนะจักบังเกิด เพราะจะไม่มีทางหลุดพ้นจากเบื้องล่างสู่เบื้องสูง สู่ความศักดิ์สิทธิ์ — จักรวาลจะกลายเป็นสิ่งตายตัว ไร้ซึ่งความก้าวหน้า
และหากมนุษย์ อันมีเพียงปัญญาครึ่งๆ กลางๆ กระทำ ดำรงชีวิต และคิดว่าจักรวาลเป็นเพียงความฝันเลือนราง (คล้ายกับฝันอันจำกัดของตน) มันก็จะเป็นอย่างนั้นสำหรับเขา เขาจะกลายเป็นดั่งคนละเมอเดินวนเวียนเป็นวงกลม ไร้ซึ่งความคืบหน้า จนสุดท้ายสะดุดล้มฟาดกับกฎธรรมชาติที่เขาเมินเฉย เจ็บปวดและเลือดตกยางออก
จงแน่วแน่ในเป้าหมายอันสูงส่ง แต่สายตาต้องจับจ้องทุกย่างก้าว มิเช่นนั้นเจ้าอาจพลัดตกลงสู่โคลนตมเพราะมัวแต่มองฟ้า จำไว้ให้ดีถึงปฏิทรรศน์ศักดิ์สิทธิ์ แม้จักรวาลจะไม่ใช่ของจริง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็คือของจริง จงระลึกไว้เสมอถึงขั้วทั้งสองแห่งความจริง — ความจริงแท้ และความจริงสัมพัทธ์ ระวังให้ดีกับความจริงครึ่งเดียว
สิ่งที่เหล่าปราชญ์เฮอร์เมติกเรียกว่า “กฎแห่งปฏิทรรศน์” นั้น แท้จริงคือส่วนหนึ่งของหลักการแห่งขั้วตรงข้าม ตำราลับของเฮอร์เมติกเต็มไปด้วยการกล่าวถึงปฏิทรรศน์ที่ปรากฏขึ้นเมื่อพิจารณาถึงปัญหาแห่งชีวิตและการดำรงอยู่
เหล่าอาจารย์เตือนศิษย์อยู่เสมอถึงความผิดพลาดในการละเลย “อีกด้านหนึ่ง” ของทุกๆ ประเด็น และคำเตือนของพวกเขามุ่งเน้นเป็นพิเศษที่ปัญหาของความจริงแท้และความจริงสัมพัทธ์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับนักปรัชญาทุกคน และทำให้หลายคนคิดและกระทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกกันว่า “สามัญสำนึก”
ขอให้เหล่านักเรียนทุกคนเข้าใจถึงปฏิทรรศน์ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างความจริงแท้และความจริงสัมพัทธ์ให้ถ่องแท้ มิเช่นนั้นอาจติดหล่มอยู่ในความจริงครึ่งเดียว บทเรียนนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว จงอ่านอย่างตั้งใจ!
ความคิดแรกที่ผุดขึ้นในใจของนักคิด หลังจากที่ตระหนักถึงความจริงว่าจักรวาลนี้คือการสร้างสรรค์ทางจิตของสรรพสิ่ง (THE ALL) ก็คือ จักรวาลและทุกสิ่งภายในเป็นเพียงภาพลวงตา ไร้ซึ่งความเป็นจริงแท้… แนวคิดที่สัญชาตญาณของเขาต่อต้าน ทว่านี่ก็เช่นเดียวกับความจริงอันยิ่งใหญ่อื่นๆ จำต้องพิจารณาจากทั้งมุมมองของความจริงแท้และความจริงสัมพัทธ์
หากมองจากมุมของความจริงแท้ แน่นอนว่าจักรวาลนั้นมีลักษณะของภาพมายา ความฝัน ภาพลวงตา เมื่อเปรียบเทียบกับตัวตนของสรรพสิ่ง เราตระหนักถึงสิ่งนี้แม้ในมุมมองปกติของเรา เพราะเรามักเรียกโลกนี้ว่า “ละครฉากหนึ่ง” ที่มาแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ดับสูญ
เพราะธาตุแห่งความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลง ความจำกัด และความไม่เป็นแก่นสาร ย่อมเกี่ยวพันกับแนวคิดของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นเสมอ หากนำมาเทียบกับแนวคิดของสรรพสิ่ง ไม่ว่าเราจะเชื่อเช่นไรเกี่ยวกับธรรมชาติของทั้งสองก็ตาม
เหล่านักปรัชญา นักอภิปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ และนักเทววิทยา ต่างเห็นพ้องกับแนวคิดนี้ และพบเห็นได้ในทุกสำนักคิดเชิงปรัชญา รวมถึงแนวคิดทางศาสนา ตลอดจนในทฤษฎีของสำนักอภิปรัชญาและเทววิทยาต่างๆ
ดังนั้น คำสอนลับของเฮอร์เมติกไม่ได้กล่าวถึงความไม่เป็นแก่นสารของจักรวาลในแง่ที่หนักแน่นไปกว่าแนวคิดที่คุณคุ้นเคยเสียเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าการนำเสนอในเรื่องนี้อาจจะดูน่าตกใจไปบ้างก็ตาม สิ่งใดก็ตามที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ย่อมต้องเป็นสิ่งไม่จริงแท้และไม่ยั่งยืนในระดับหนึ่ง และจักรวาลเองก็อยู่ภายใต้กฎนี้เช่นกันในทุกสำนักคิด
หากมองจากมุมมองของความจริงแท้แล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของจริงนอกจากสรรพสิ่ง (THE ALL) ไม่ว่าเราจะใช้คำศัพท์ใดในการครุ่นคิดหรือถกเถียงถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจักรวาลจะถูกสร้างขึ้นจากสสาร หรือเป็นเพียงการสร้างสรรค์ทางจิตของสรรพสิ่ง มันก็ล้วนไม่เป็นแก่นสาร ไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งแห่งกาลเวลา สถานที่ และการเปลี่ยนแปลง
เราอยากให้คุณตระหนักถึงความจริงข้อนี้ให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินแนวคิดของเฮอร์เมติกเกี่ยวกับธรรมชาติทางจิตของจักรวาล ใคร่ครวญพิจารณาแนวคิดอื่นใดๆ ทั้งหมด แล้วคุณจะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ก็เป็นความจริงมิใช่หรือ?
ทว่ามุมมองของความจริงแท้นั้นเผยให้เห็นเพียงด้านเดียวของภาพ — อีกด้านหนึ่งคือมุมมองของความจริงสัมพัทธ์ ความจริงแท้นั้นหมายถึง “สิ่งต่างๆ ดังที่พระจิตของพระผู้เป็นเจ้าทรงรับรู้”
ในขณะที่ความจริงสัมพัทธ์คือ “สิ่งต่างๆ ดังที่เหตุผลอันสูงส่งที่สุดของมนุษย์เข้าใจ” ด้วยเหตุนีั้ แม้ว่าในสายตาของสรรพสิ่ง (THE ALL) จักรวาลจะต้องเป็นภาพลวงตา ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงความฝันหรือผลลัพธ์ของการทำสมาธิ — กระนั้น สำหรับจิตใจอันจำกัดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนั้น และมองผ่านความสามารถอันเป็นมรรตัย
จักรวาลก็เป็นของจริงอย่างยิ่ง และต้องได้รับการพิจารณาเช่นนั้น เมื่อเรายอมรับมุมมองของความจริงแท้ เราต้องไม่หลงผิดไปกับการเพิกเฉยหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ต่างๆ ของจักรวาล ดังที่แสดงออกต่อความสามารถในการรับรู้ของเรา อย่าลืมว่าเราไม่ใช่สรรพสิ่ง
หากจะยกตัวอย่างที่คุ้นเคย เราทุกคนต่างรับรู้ว่าสสารนั้น “มีอยู่จริง” สำหรับสัมผัสของเรา — และเราจะได้รับบทเรียนราคาแพงหากไม่เชื่อเช่นนั้น กระนั้น แม้แต่จิตใจอันจำกัดของเราก็ยังเข้าใจคำกล่าวทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า
แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดเรียกว่าสสาร หากมองในแง่ของวิทยาศาสตร์ — สิ่งที่เราเรียกว่าสสารนั้น ถูกอธิบายว่าเป็นเพียงการรวมตัวกันของอะตอม และตัวอะตอมเองก็เป็นเพียงกลุ่มของหน่วยพลังงานที่เรียกว่าอิเล็กตรอนหรือ “ไอออน” ซึ่งสั่นสะเทือนและเคลื่อนที่เป็นวงกลมอย่างต่อเนื่อง เราเตะก้อนหินและรู้สึกถึงแรงกระแทก — ดูเหมือนว่ามันจะเป็นของจริง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น
แต่ขอให้จำไว้ว่า เท้าของเราซึ่งรู้สึกถึงแรงกระแทกผ่านสมองนั้น ก็เป็นสสารเช่นกัน ประกอบด้วยอิเล็กตรอน และในแง่นั้น สมองของเราก็เช่นเดียวกัน หากปราศจากจิตใจของเรา เราจะไม่รู้จักทั้งเท้าหรือก้อนหินเลย
ดังเช่นอุดมคติของศิลปินหรือนักแกะสลัก ที่เขาพยายามถ่ายทอดลงในหินหรือผืนผ้าใบนั้นดูจะจริงแท้เหลือเกินในความรู้สึกของเขา เช่นเดียวกับตัวละครในจินตนาการของนักเขียนหรือนักประพันธ์ ที่เขาปรารถนาจะแสดงออกเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ได้
และหากสิ่งนี้เป็นจริงในกรณีของจิตใจอันจำกัดของเรา แล้วระดับความเป็นจริงของภาพที่เกิดขึ้นในจิตของผู้ไร้ขอบเขตจะถึงเพียงใด? โอ้ มิตรสหาย สำหรับมนุษย์ผู้เป็นมรรตัย จักรวาลแห่งจิตนี้เป็นของจริงอย่างยิ่ง — เป็นจักรวาลเดียวที่เราจะรู้จักได้ แม้ว่าเราจะก้าวไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากจะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแท้จริงผ่านประสบการณ์ตรงนั้น เราจะต้องเป็นสรรพสิ่ง (THE ALL) เสียเอง
แท้จริงแล้ว ยิ่งเราก้าวสูงขึ้นไป — ยิ่งเราเข้าใกล้ “จิตของพระบิดา” มากเท่าไหร่ — ธรรมชาติอันลวงตาของสิ่งจำกัดก็จะยิ่งปรากฏชัดมากขึ้นเท่านั้น แต่ตราบจนกว่าสรรพสิ่งจะดึงเรากลับเข้าสู่ตัวมันเอง นิมิตรนั้นก็จะไม่มีวันหายไป
ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องครุ่นคิดถึงภาพลวงตาของจักรวาล แต่จงเข้าใจในธรรมชาติที่แท้จริงของมัน มุ่งที่จะเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางจิต และพยายามใช้กฎเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการยกระดับการดำรงอยู่ของเรา
ในขณะที่เราก้าวข้ามภพภูมิต่างๆ แม้ว่าธรรมชาติของมันจะเป็นด้านจิตใจ แต่กฎของจักรวาลก็ยังคงเป็น “กฎอันแข็งแกร่ง” ทุกสิ่งยกเว้นสรรพสิ่ง (THE ALL) ล้วนอยู่ภายใต้กฎเหล่านี้ สิ่งที่อยู่ในจิตไร้ขอบเขตของสรรพสิ่งนั้นเป็นของจริง เป็นรองเพียงความจริงแท้ซึ่งอยู่ในธรรมชาติของสรรพสิ่งเท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่าหวั่นไหวหรือหวาดกลัว — เราทุกคนถูกโอบอุ้มไว้อย่างมั่นคงในจิตไร้ขอบเขตของสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดจะทำร้ายเราหรือทำให้เราต้องกลัว ไม่มีอำนาจใดภายนอกสรรพสิ่งที่จะส่งผลต่อเรา ดังนั้นขอให้พักผ่อนอย่างสงบและมั่นใจเถิด โลกแห่งความสบายใจและปลอดภัยนั้นอยู่ในความตระหนักรู้นี้
เมื่อใดที่เราเข้าถึงมันแล้ว เราจะ “หลับใหลอย่างสงบสุข ดุจถูกล่อมไว้ในอ้อมกอดแห่งมหาสมุทรลึก” — พักพิงอย่างปลอดภัยบนอกของมหาสมุทรแห่งจิตไร้ขอบเขต อันเป็นสรรพสิ่ง แท้จริงแล้ว ในสรรพสิ่งนี้เองที่ “เราดำรงอยู่ เคลื่อนไหว และมีชีวิต”
สสารก็ยังคงเป็นสสารสำหรับเรา ตราบเท่าที่เราอาศัยอยู่ในภพภูมิของสสารนี้ แม้เราจะรู้ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงการรวมกลุ่มของ “อิเล็กตรอน” หรืออนุภาคของพลังงาน ที่สั่นสะเทือนและหมุนวนอย่างรวดเร็วรอบตัวเอง จนเกิดเป็นรูปแบบของอะตอม และอะตอมเหล่านั้นก็ยังสั่นสะเทือนและหมุนวนเช่นกัน ก่อตัวเป็นโมเลกุล
ซึ่งโมเลกุลก็จะรวมกันเป็นมวลของสสารขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก และสสารก็จะไม่กลายเป็นสิ่งที่น้อยไปกว่าสสาร แม้ว่าเราจะเจาะลึกการค้นหาต่อไป และเรียนรู้จากคำสอนของเฮอร์เมติกว่า “พลังงาน” ที่อิเล็กตรอนเป็นเพียงส่วนประกอบนั้น ก็คือการแสดงออกของจิตแห่งสรรพสิ่ง (THE ALL) และเช่นเดียวกับทุกสิ่งในจักรวาลนี้ มีธรรมชาติเป็นภาวะทางจิตใจอย่างแท้จริง
ตราบใดที่เรายังอยู่ในภพภูมิของสสาร เราจำต้องยอมรับในปรากฏการณ์ของมัน — เราอาจควบคุมสสารได้ (ดังเช่นปรมาจารย์ทั้งหลายไม่ว่าระดับสูงหรือต่ำทำได้) แต่เราทำเช่นนั้นด้วยการประยุกต์ใช้พลังงานระดับที่เหนือกว่า
เราจะหลงผิดอย่างมากหากพยายามปฏิเสธการดำรงอยู่ของสสารในแง่มุมของความจริงสัมพัทธ์ เราอาจปฏิเสธการที่มันมีอำนาจเหนือเรา — และนั่นถูกต้องแล้ว — แต่เราไม่ควรพยายามเพิกเฉยต่อสสารในแง่มุมของความจริงสัมพัทธ์ อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่เรายังอาศัยอยู่ในภพภูมินี้
กฎแห่งธรรมชาติไม่ได้ลดความคงที่หรือประสิทธิผลลง แม้ว่าเราจะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในจิตก็ตาม เพราะมันมีผลเต็มที่บนภพภูมิต่างๆ เราเอาชนะกฎระดับต่ำได้ด้วยการใช้กฎที่สูงกว่า — และมีเพียงหนทางนี้เท่านั้น ทว่าเราหนีกฎหรืออยู่เหนือมันอย่างสิ้นเชิงไม่ได้ มีเพียงสรรพสิ่ง (THE ALL) เท่านั้นที่อยู่เหนือกฎได้ — เพราะสรรพสิ่งนั้น คือตัวกฎเอง เป็นจุดกำเนิดของกฎทั้งปวง
ปรมาจารย์ขั้นสูงสุดอาจมีอำนาจเทียบเท่ากับสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าเทพเจ้าได้ และในลำดับชั้นที่ยิ่งใหญ่ของสรรพชีวิต ย่อมมีสิ่งมีชีวิตมากมายนับไม่ถ้วน ที่ดำรงอยู่ด้วยอำนาจเหนือกว่าปรมาจารย์ชั้นเลิศในหมู่มนุษย์อย่างที่เราไม่อาจจินตนาการได้ แต่ทว่าแม้แต่ปรมาจารย์ระดับสูงสุด หรือสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งที่สุด ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎ และเป็นดั่งความว่างเปล่าในสายตาของสรรพสิ่ง
ดังนั้นหากสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งยิ่งเหล่านี้ ผู้ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าที่มนุษย์ยกให้เทพเจ้าของตนเสียอีก — หากแม้แต่พวกเขาก็ยังถูกผูกมัดและยอมจำนนต่อกฎ แล้วมนุษย์ผู้เป็นมรรตัยในเผ่าพันธุ์และระดับเช่นเรา จะบังอาจคิดว่ากฎแห่งธรรมชาติเป็นสิ่ง “ไม่จริง” เป็นภาพมายา เพียงเพราะเราบังเอิญเข้าใจความจริงว่ากฎเหล่านั้นอยู่ในภาวะทางจิตเป็นเพียงการสร้างสรรค์ทางจิตของสรรพสิ่งได้อย่างไรกัน?
กฎทั้งหลายที่สรรพสิ่งกำหนดไว้ให้เป็นกฎครอบครองนั้น ไม่สามารถท้าทายหรือหักล้างได้ ตราบเท่าที่จักรวาลยังดำรงอยู่ กฎเหล่านั้นก็จะยังอยู่ — เพราะจักรวาลดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยกฎซึ่งเป็นโครงร่างและยึดทุกสิ่งไว้ด้วยกัน
แม้หลักการแห่งภาวะทางจิต (Principle of Mentalism) ของเฮอร์เมติกจะอธิบายธรรมชาติที่แท้จริงของจักรวาลโดยยึดมั่นว่าทุกสิ่งเป็นภาวะทางจิต แต่นั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจักรวาล ชีวิต หรือวิวัฒนาการแต่อย่างใด
อันที่จริงวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันคำสอนของเฮอร์เมติกเสียด้วยซ้ำ คำสอนนี้เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติของจักรวาลคือ “ภาวะทางจิต” ในขณะที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้สอนเราว่าจักรวาลนี้คือ “สสาร” หรือ (ในแง่มุมล่าสุด) คือ “พลังงาน” เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุด
คำสอนของเฮอร์เมติกไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ กับหลักการพื้นฐานของเฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) ที่ตั้งสมมติฐานถึงการดำรงอยู่ของ “พลังงานนิรันดร์และไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นที่มาของทุกสรรพสิ่ง”
แท้จริงแล้ว เหล่าผู้รู้แห่งเฮอร์เมติกเห็นปรัชญาของสเปนเซอร์เป็นคำประกาศจากภายนอกที่ทรงพลังที่สุด ว่าด้วยการทำงานของกฎธรรมชาติเท่าที่มีมา พวกเขาเชื่อว่าสเปนเซอร์เป็นการกลับชาติมาเกิดของนักปรัชญายุคโบราณ
ผู้มีชีวิตอยู่ในอียิปต์โบราณเมื่อพันปีก่อน และหลังจากนั้นได้กลับชาติมาเกิดอีกครั้งเป็นเฮราคลิตุส นักปรัชญากรีกผู้มีชีวิตราว 500 ปีก่อนคริสตกาล เหล่าผู้รู้แห่งเฮอร์เมติกพิจารณาคำกล่าวของเขาถึง “พลังงานนิรันดร์และไร้ขอบเขต” ว่าสอดคล้องโดยตรงกับคำสอนเฮอร์เมติก เพียงแต่เพิ่มเติมหลักคำสอนของพวกเขาเองที่ว่า “พลังงาน” อันนั้นคือพลังงานจากจิตของสรรพสิ่ง (THE ALL)
ด้วยกุญแจแห่งปรัชญาเฮอร์เมติก นักเรียนของสเปนเซอร์จะสามารถไขประตูมากมายสู่แนวคิดปรัชญาภายในของนักปรัชญาชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่รายนี้ ผู้ซึ่งผลงานของเขาได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการเตรียมพร้อมในชาติภพก่อนๆของเขา คำสอนเกี่ยวกับวิวัฒนาการและจังหวะ (Rhythm) ของเขานั้นสอดคล้องแทบจะสมบูรณ์กับคำสอนของเฮอร์เมติกที่ว่าด้วยหลักการแห่งจังหวะ
ดังนั้น นักศึกษาแห่งศาสตร์เฮอร์เมติกจึงไม่จำเป็นต้องละทิ้งมุมมองทางวิทยาศาสตร์อันมีค่าของตนเกี่ยวกับจักรวาล สิ่งที่จำเป็นต้องทำมีเพียงเข้าใจหลักการพื้นฐานที่ว่าสรรพสิ่ง (THE ALL) คือจิต จักรวาลเป็นภาวะทางจิตที่ดำรงอยู่ในจิตของสรรพสิ่ง
นักศึกษาจะพบว่าหลักการอีกหกข้อจากทั้งหมดเจ็ดข้อนั้นจะสอดคล้องเข้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และจะช่วยไขปัญหาที่คลุมเครือ รวมถึงส่องแสงสว่างไปยังมุมมืดต่างๆ และนี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก หากเราระลึกถึงอิทธิพลของแนวคิดเฮอร์เมติกต่อเหล่านักปรัชญายุคแรกของกรีซ ผู้ซึ่งทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้นำมาใช้เป็นรากฐานสำคัญ
การยอมรับในหลักการข้อแรกของเฮอร์เมติก (หลักการแห่งภาวะทางจิต) คือจุดแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และนักศึกษาศาสตร์เฮอร์เมติก ทว่าวิทยาศาสตร์เองก็กำลังคลำหาหนทางออกจากเขาวงกตที่มันหลงเข้าไประหว่างการค้นหาความจริง และค่อยๆ เคลื่อนเข้าใกล้แนวคิดของเฮอร์เมติกมากขึ้นทุกขณะ
จุดประสงค์ของบทเรียนนี้คือการตอกย้ำความจริงที่ว่า ในทุกๆ ด้าน จักรวาล กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ตลอดจนปรากฏการณ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีตัวตนและส่งผล ‘ต่อมนุษย์’ เสมือนว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดวัตถุนิยมหรือพลังงานนิยม
ไม่ว่าจะมองผ่านทฤษฎีใด ในแง่มุมภายนอก จักรวาลนั้นเปลี่ยนแปลง ต่อเนื่อง ไร้แก่นแท้ อันบ่งชี้ถึงการขาดความเป็นตัวตนและความจริงแท้ แต่ (โปรดสังเกตอีกด้านหนึ่งของความจริง) ไม่ว่าจะมองผ่านทฤษฎีใด เราต่างก็ถูกผลักดันให้ใช้ชีวิต ‘ราวกับว่า’ สิ่งที่แปรเปลี่ยนได้นั้นเป็นของจริง เป็นรูปธรรม มีตัวตน
สิ่งที่จะทำให้ทฤษฎีทั้งหลายแตกต่างกันก็คือ ภายใต้มุมมองเดิมๆ นั้น การมีอยู่ของพลังจิตถูกเมินเฉยในฐานะพลังธรรมชาติ ขณะที่แนวคิดพลังจิตนิยมยกให้พลังจิตเป็นพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่สุด ความแตกต่างเพียงหนึ่งเดียวนี้แหละที่จะปฏิวัติการใช้ชีวิต สำหรับผู้ที่เข้าใจหลักการแห่งพลังจิต กฎเกณฑ์การนำมาใช้ และการฝึกฝนจริงๆ
ท้ายที่สุดแล้ว นักศึกษาที่รักทุกท่าน โปรดเข้าใจถึงข้อได้เปรียบที่แนวคิดพลังจิตนิยมมอบให้ จงเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ใช้ และประยุกต์กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกิดตามมา
แต่อย่ายอมแพ้ให้กับสิ่งล่อใจที่ ‘ไคบาเลียน’ ได้กล่าวถึงว่าจะครอบงำผู้รู้เพียงครึ่งเดียวผลักดันให้ตกอยู่ในภวังค์แห่งความไม่จริงของทุกสรรพสิ่ง จนหลงทางราวกับฝันเฟื่องอยู่ในโลกแห่งมายา เพิกเฉยต่อหน้าที่และชีวิตในโลกความเป็นจริง และผลสุดท้ายจะจบลงด้วยการ “แหลกสลายเมื่อปะทะกับโขดหิน ถูกฉีกกระชากด้วยธรรมชาติ อันเป็นผลจากความโง่เขลา”
จงเดินตามแบบอย่างของผู้รู้ ที่ดังก้องอยู่ในคัมภีร์เดียวกันว่า “จงใช้กฎเพื่อหักล้างกฎ ใช้สิ่งที่สูงส่งกว่าเพื่อกำราบสิ่งที่ต่ำชั้น และด้วยศิลปะแห่งการแปรธาตุ จงเปลี่ยนสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ให้กลายเป็นสิ่งที่คู่ควร
และด้วยวิธีนั้นเจ้าจะพบกับชัยชนะ” ตามคำสอนที่ว่า ขอให้เราหลีกเลี่ยงความรู้เพียงครึ่งเดียว (อันเป็นที่มาของความโง่เขลา) ที่เพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า: “ความเป็นนายนั้นมิได้อยู่ที่ความฝันอันผิดปกติ ภาพนิมิต หรือการดำรงชีวิตอันเพ้อฝัน หากแต่อยู่ที่การใช้พลังระดับสูงเพื่อต่อกรกับพลังระดับต่ำ หลบหนีจากความทุกข์ทรมานด้วยการสั่นสะเทือนอยู่ในระดับที่สูงส่งกว่า”
จงจำไว้เสมอเหล่าศิษย์ทั้งหลายว่า “การแปรธาตุ มิใช่การปฏิเสธด้วยความอหังการ หากคืออาวุธของผู้เป็นนาย” คำสอนเหล่านี้มาจาก ‘ไคบาเลียน’ และคู่ควรแก่การจดจำฝังใจของทุกคนที่ศึกษาศาสตร์นี้
เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความฝัน แต่เราอาศัยอยู่ในจักรวาลที่แม้จะมีความสัมพันธ์กันภายในตัวมันเอง ทว่าก็ยังคงเป็นของจริงแท้ในทุกๆ การกระทำและทุกช่วงชีวิตของเรา หน้าที่ของเราในจักรวาลนี้ มิใช่การปฏิเสธการมีอยู่ของมัน แต่คือการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยใช้กฎเกณฑ์เพื่อยกระดับตนเองจากสิ่งที่ต่ำกว่าไปสู่สิ่งที่สูงส่งกว่าดำเนินชีวิตต่อไป ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
และที่สำคัญคือ ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับอุดมคติที่สูงส่งที่สุดของเรา แท้จริงแล้วมนุษย์อย่างเราในภพชาตินี้อาจไม่อาจล่วงรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ แม้กระทั่งผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็อาจบอกไม่ได้อย่างแน่ชัด แต่ทั้งผู้รู้และสัญชาตญาณลึกๆ ของเราก็ต่างสอนให้เราเข้าใจว่า ไม่มีทางผิดพลาด
หากเราใช้ชีวิตโดยแสดงด้านที่ดีที่สุดในตัวเราออกมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และยอมรับในแนวโน้มที่จักรวาลได้กำหนดไว้ท่ามกลางหลักฐานที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน เราทุกคนล้วนอยู่บน ‘เส้นทาง’ และเส้นทางนี้จะนำเราขึ้นสู่ที่สูงกว่าเดิมเสมอ แม้บางครั้งจะมีจุดพักอยู่เป็นระยะๆ
จงอ่านข้อความแห่ง ‘ไคบาเลียน’ และเรียนรู้จากวิถีของ ‘ผู้รู้’ หลีกเลี่ยงความผิดพลาดของ ‘ผู้รู้เพียงครึ่งเดียว’ ที่ล่มสลายไปเพราะความเขลาของตนเอง