The Kybalion : หลัก 7 ประการ ที่จะไขปริศนาของจักรวาลให้คุณบรรลุทุกสิ่งที่ต้องการ บทที่ 9: การสั่นสะเทือน

บทที่ 9 การสั่นสะเทือน

ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่ง ทุกสิ่งเคลื่อนไหว ทุกสิ่งสั่นสะเทือน‘ The Kybalion

หลักการแฝงเร้นข้อที่สามอันยิ่งใหญ่ — หลักการแห่งการสั่นสะเทือน — ได้รวบรวมสัจธรรมที่ว่าการเคลื่อนไหวปรากฏอยู่ในทุกสรรพสิ่งทั่วจักรวาล — ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่ง — ทุกสิ่งเคลื่อนไหว สั่นสะเทือน และหมุนเวียน หลักการแฝงเร้นนี้ได้รับการยอมรับจากนักปรัชญากรีกยุคแรกเริ่มผู้ซึ่งได้หลอมรวมหลักการนี้เข้าไว้ในปรัชญาของตน

ทว่า หลักการนี้ได้สูญหายไปจากสายตาของนักคิดนอกแนวทางแฝงเร้นเป็นเวลาหลายศตวรรษ กระทั่งในศตวรรษที่สิบเก้า วิทยาศาสตร์กายภาพได้ค้นพบสัจธรรมนี้ขึ้นอีกครั้ง และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ยี่สิบได้เป็นเครื่องยืนยันเพิ่มเติมถึงความถูกต้องเที่ยงตรงของหลักคำสอนแฝงเร้นที่มีอายุนับศตวรรษนี้ต่อไป

คำสอนแฝงเร้นกล่าวว่าไม่เพียงแต่ทุกสิ่งจะอยู่ในสภาวะเคลื่อนไหวและสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น หากแต่ ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างการแสดงออกที่หลากหลายของพลังงานสากลทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากอัตราและรูปแบบของการสั่นสะเทือนที่แปรผัน

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ ‘มหาสรรพสิ่ง’ นั้นก็ยังแสดงการสั่นสะเทือนคงที่ที่มีระดับความเข้มข้นและความเร็วในการเคลื่อนไหวอันหาที่สุดมิได้ จนแทบจะถือได้ว่าอยู่ในสภาวะนิ่งสนิท บรรดาครูบาอาจารย์เน้นย้ำให้เหล่าศิษย์ได้ตระหนักว่าแม้แต่ในระนาบกายภาพ วัตถุที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (เช่น กงล้อที่หมุนวน) ก็ยังดูราวกับว่าอยู่นิ่งสนิท

คำสอนได้อธิบายว่าจิตวิญญาณนั้นอยู่ ณ สุดปลายด้านหนึ่งของขั้วการสั่นสะเทือน ขณะที่อีกปลายหนึ่งเป็นรูปแบบของสสารที่หยาบยิ่งยวด ระหว่างขั้วทั้งสองนี้ยังคงมีอัตราและรูปแบบของการสั่นสะเทือนนับล้านไม่ถ้วน

วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เราเรียกว่าสสารและพลังงานนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียง “รูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบสั่นสะเทือน” และนักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าบางกลุ่มกำลังเคลื่อนเข้าใกล้จุดยืนของเหล่าผู้ศึกษาศาสตร์เร้นลับ ผู้ซึ่งเชื่อว่าปรากฏการณ์แห่งจิตใจก็เป็นรูปแบบของการสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนไหวเช่นกัน มาดูกันว่าวิทยาศาสตร์กล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับคำถามเรื่องการสั่นสะเทือนในสสารและพลังงาน

อันดับแรก วิทยาศาสตร์สอนว่าสสารทุกรูปแบบล้วนแสดงการสั่นสะเทือนที่เกิดจากอุณหภูมิหรือความร้อน ไม่ว่าวัตถุจะเย็นหรือร้อน ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นเพียงระดับที่ต่างกันของสิ่งเดียวกัน วัตถุนั้นย่อมแสดงการสั่นสะเทือนจากความร้อน และในแง่นั้น วัตถุจึงอยู่ในการเคลื่อนไหวและสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลา จากนั้น อนุภาคทั้งหมดของสสารจะเคลื่อนที่เป็นวงกลม ตั้งแต่โมเลกุลไปจนถึงดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และหลายดวงก็หมุนรอบตัวเอง

ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่รอบจุดศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่กว่า และจุดศูนย์กลางเหล่านั้นก็เชื่อว่าเคลื่อนที่ไปรอบจุดที่ใหญ่กว่ายิ่งขึ้นไปอีก และเช่นนี้ต่อไปอย่างไร้ขอบเขตจำกัด โมเลกุลที่ประกอบขึ้นเป็นสสารชนิดต่างๆ อยู่ในสภาวะของการสั่นสะเทือนและการเคลื่อนไหวคงที่ ทั้งที่เป็นการเคลื่อนที่รอบกันและกัน หรือเคลื่อนที่กระทบกันเอง

โมเลกุลประกอบด้วยอะตอม ซึ่งอะตอมเองก็อยู่ในสภาวะของการเคลื่อนไหวและการสั่นสะเทือนคงที่เช่นกัน อะตอมประกอบด้วยอนุภาคที่เล็กยิ่งกว่า ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อิเล็กตรอน” “ไอออน” ฯลฯ โดยอนุภาคเหล่านี้ก็อยู่ในสภาวะการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว หมุนวนรอบกันและกัน และแสดงการสั่นสะเทือนด้วยอัตราและรูปแบบที่รวดเร็วมาก และดังนั้น เราจึงเห็นว่าสสารทุกรูปแบบแสดงออกถึงการสั่นสะเทือน สอดคล้องกับหลักการแฝงเร้นแห่งการสั่นสะเทือน

และเช่นเดียวกันกับพลังงานรูปแบบต่างๆ วิทยาศาสตร์สอนว่าแสง ความร้อน แม่เหล็ก และไฟฟ้าล้วนเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบสั่นสะเทือนที่มีความเชื่อมโยง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าแผ่กระจายออกมาจากอีเทอร์

วิทยาศาสตร์ยังไม่ได้พยายามอธิบายธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่เรียกว่าแรงยึดเหนี่ยว (Cohesion) ซึ่งเป็นหลักการของแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล แรงดึงดูดทางเคมี (Chemical Affinity) ซึ่งเป็นหลักการดึงดูดระหว่างอะตอม หรือแรงโน้มถ่วง (Gravitation) ซึ่งเป็นปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งสาม ซึ่งเป็นหลักการแรงดึงดูดที่ทำให้อนุภาคหรือมวลของสสารทุกชิ้นผูกพันซึ่งกันและกัน

แม้ว่าพลังงานสามรูปแบบนี้จะยังไม่เป็นที่เข้าใจในทางวิทยาศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็มีแนวโน้มเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพลังงานเหล่านี้ก็คือการแสดงออกของพลังงานสั่นสะเทือนรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเป็นความจริงที่เหล่าผู้ศึกษาศาสตร์แฝงเร้นยึดถือและสอนต่อกันมาตั้งแต่อดีตกาล

อีเทอร์สากล (อีเธอร์ – สาระทางจิตวิญญาณซึ่งเราทั้งหลายดำรงอยู่ เคลื่อนไหว และมีชีวิต และจากอีเธอร์นี้ เราสามารถสร้างสิ่งใดก็ตามที่เราปรารถนา บางคนมองว่า อีเธอร์คือ อวกาศ หรือพื้นที่ของจักรวาลที่สสารบรรจุอยู่) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกตั้งสมมติฐานขึ้นโดยวิทยาศาสตร์โดยปราศจากความเข้าใจที่ชัดเจนถึงธรรมชาติของมันนั้น

เหล่าผู้ศึกษาศาสตร์แฝงเร้นเชื่อว่า อีเทอร์เป็นเพียงการแสดงออกในระดับสูงของสิ่งที่เรียกกันอย่างผิดๆ ว่า ‘สสาร’ นั่นก็คือ สสารในระดับการสั่นสะเทือนที่สูงกว่า ซึ่งผู้ศึกษาศาสตร์แฝงเร้นเรียกว่า ‘สารอีเทอร์’

เหล่าผู้ศึกษาศาสตร์แฝงเร้นสอนว่า สารอีเทอร์นี้มีความเบาบางและยืดหยุ่นอย่างยิ่ง และแทรกซึมอยู่ทั่วพื้นที่ในจักรวาล ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการส่งคลื่นพลังงานสั่นสะเทือน เช่น ความร้อน แสง ไฟฟ้า แม่เหล็ก เป็นต้น คำสอนกล่าวว่าสารอีเทอร์นี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างรูปแบบของพลังงานสั่นสะเทือนที่รู้จักกันในนาม ‘สสาร’ ในด้านหนึ่ง กับ ‘พลังงานหรือแรง’ ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ สารอีเทอร์ยังแสดงระดับของการสั่นสะเทือน ทั้งในอัตราและรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นักวิทยาศาสตร์ได้ยกตัวอย่างของล้อ ท็อป (ลูกข่าง) หรือทรงกระบอกที่หมุนอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของอัตราการสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างนี้สมมติว่าเรามีล้อ ท็อป หรือทรงกระบอกหมุนด้วยความเร็วต่ำ ซึ่งในการอธิบายตัวอย่างนี้ต่อไป เราจะเรียกสิ่งที่หมุนอยู่นี้ว่า “วัตถุ”

สมมติว่าวัตถุนี้กำลังเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เราจะมองเห็นวัตถุได้อย่างชัดเจน แต่ยังไม่ได้ยินเสียงใดๆ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของมัน จากนั้น วัตถุจะค่อยๆ ถูกเพิ่มความเร็วขึ้น และในไม่ช้าการเคลื่อนไหวของมันจะเร็วมากจนได้ยินเสียงคำรามต่ำๆ แล้วเมื่ออัตราความเร็วเพิ่มขึ้น เสียงที่ดังออกมาจะสูงขึ้นหนึ่งขั้นในสเกลดนตรี

จากนั้นเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โน้ตดนตรีที่สูงขึ้นถัดไปจะปรากฏชัดเจนขึ้น และเช่นนี้ต่อไป โน้ตดนตรีทั้งหมดจะทยอยปรากฏขึ้นตามสเกล โดยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของวัตถุที่เพิ่มขึ้น ในที่สุด เมื่อการเคลื่อนไหวถึงอัตราความเร็วระดับหนึ่ง เราจะได้ยินโน้ตสุดท้ายที่หูมนุษย์รับรู้ได้ เสียงแหลมสูงจะจางหายไป และความเงียบจะเข้ามาแทนที่ ไม่มีเสียงใดๆ ดังออกมาจากวัตถุที่หมุนอยู่อีก เนื่องจากอัตราการเคลื่อนไหวสูงมากจนหูของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้การสั่นสะเทือนได้

หลังจากนั้นจะเกิดการรับรู้ถึงระดับความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ดวงตาจะเหลือบเห็นวัตถุกลายเป็นสีแดงเข้มทึบ ขณะที่ความเร็วเพิ่มขึ้น สีแดงจะสว่างมากขึ้น จากนั้น เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นไปอีก สีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม แล้วสีส้มก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ตามมาด้วยเฉดสีเขียว ฟ้า คราม และสุดท้ายคือสีม่วง เมื่ออัตราความเร็วเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเฉดสีม่วงก็จะจางหายไป

และทุกสีจะหายไปจนหมดเนื่องจากดวงตาของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้สีเหล่านั้นได้อีกต่อไป แต่ยังคงมีรังสีที่มองไม่เห็นแผ่ออกมาจากวัตถุที่หมุนอยู่ ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพ และรังสีชนิดอื่นๆ ที่บอบบาง จากนั้นจะเริ่มปรากฏรังสีประหลาดที่เรียกว่า “รังสีเอ็กซ์” ฯลฯ เมื่อโครงสร้างของวัตถุเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ วัตถุจะปล่อยไฟฟ้าและแม่เหล็กออกมาเมื่อถึงอัตราการสั่นสะเทือนที่เหมาะสม

เมื่อวัตถุถึงอัตราการสั่นสะเทือนระดับหนึ่ง โมเลกุลของมันจะสลายตัว และกลับคืนสู่ธาตุหรืออะตอมดั้งเดิม จากนั้นตามหลักการแห่งการสั่นสะเทือน อะตอมจะถูกแยกออกเป็นอนุภาคที่เล็กยิ่งกว่านับไม่ถ้วนซึ่งเป็นองค์ประกอบของมัน และในที่สุด แม้แต่อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ก็จะหายไป และอาจกล่าวได้ว่าวัตถุนั้นประกอบขึ้นจากสารอีเทอร์

วิทยาศาสตร์ไม่กล้าที่จะนำภาพประกอบนี้ไปอธิบายต่อ แต่เหล่าผู้ศึกษาศาสตร์แฝงเร้นสอนว่า หากการสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัตถุจะก้าวผ่านสถานะต่างๆ ของการแสดงตัวออกมา รวมถึงการแสดงออกในระดับจิตใจต่างๆ ตามลำดับ แล้วจึงดำเนินต่อไปยังระดับจิตวิญญาณ

จนกระทั่งในที่สุดจะกลับเข้าสู่ ‘มหาสรรพสิ่ง’ ซึ่งก็คือจิตวิญญาณสัมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ‘วัตถุ’ ดังกล่าวจะไม่คงความเป็น ‘วัตถุ’ อีกต่อไปก่อนที่จะถึงขั้นตอนของสารอีเทอร์เสียอีก แต่ถึงกระนั้น ภาพประกอบนี้ก็ยังถือว่าถูกต้องในแง่ที่มันแสดงให้เห็นถึงผลของอัตราและรูปแบบการสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องจดจำไว้ในภาพประกอบข้างต้นนี้คือ ในขั้นตอนที่ ‘วัตถุ’ ปลดปล่อยการสั่นสะเทือนของแสง ความร้อน ฯลฯ ออกมานั้น แท้จริงแล้วมันไม่ได้ ‘เปลี่ยนสภาพ’ ไปเป็นรูปแบบพลังงานเหล่านั้น (ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามากบนสเกลการสั่นสะเทือน) แต่มันเพียงแค่ไปถึงระดับการสั่นสะเทือนที่รูปแบบพลังงานเหล่านั้นถูกปลดปล่อยออกมาจนถึงระดับหนึ่ง

จากอิทธิพลที่ครอบงำของโมเลกุล อะตอม และอนุภาคต่างๆ ตามลำดับ แม้ว่ารูปแบบของพลังงานเหล่านี้จะสูงกว่าสสารมากบนสเกลการสั่นสะเทือน แต่ก็ยังคงถูกกักขังและจำกัดเอาไว้ภายในการรวมตัวของสสาร เนื่องจากพลังงานเหล่านั้นกำลังแสดงตัวออกมาผ่านและใช้ประโยชน์จากรูปแบบสสารต่างๆ ทว่าในขณะเดียวกันก็เกิดการเข้าไปพัวพันและพันธนาการตนเองอยู่ในผลงานการสร้างรูปแบบสสารนั้นๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นความจริงระดับหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์ทุกอย่าง เนื่องจากแรงที่สร้างสรรค์มักจะเข้าไปเกี่ยวพันอยู่ในการสร้างสรรค์ของตนเอง

แต่คำสอนแฝงเร้นนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาก คำสอนนี้กล่าวว่าการแสดงออกของความคิด อารมณ์ เหตุผล เจตจำนง หรือความปรารถนา หรือสภาวะหรือเงื่อนไขทางจิตใดๆ ล้วนมาพร้อมกับการสั่นสะเทือน ซึ่งบางส่วนจะถูกปลดปล่อยออกมาและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของบุคคลอื่นโดยการ ‘เหนี่ยวนำ’ นี่คือหลักการที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ‘โทรจิต’ อิทธิพลทางจิต และรูปแบบอื่นๆ ของการกระทำและพลังแห่งจิตซึ่งส่งผลเหนือจิตอื่นๆ โดยหลักการเหล่านี้กำลังเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในหมู่สาธารณชน เนื่องจากการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์เร้นลับอย่างกว้างขวางโดยสำนักต่างๆ ลัทธิ และครูบาอาจารย์ในแนวทางนี้

ความคิด อารมณ์ หรือสภาวะทางจิตแต่ละอย่างมีอัตราและรูปแบบการสั่นสะเทือนที่สอดคล้องกัน และด้วยความพยายามตั้งใจของเจ้าตัว หรือของบุคคลอื่น สภาวะทางจิตเหล่านี้สามารถถูกสร้างขึ้นใหม่ได้ เช่นเดียวกับที่เสียงของโน้ตดนตรีสามารถถูกสร้างขึ้นได้โดยการทำให้อุปกรณ์ดนตรีสั่นสะเทือนในอัตราหนึ่งๆ

เช่นเดียวกับที่สีต่างๆ สามารถถูกสร้างขึ้นใหม่ในลักษณะเดียวกัน ด้วยความรู้เกี่ยวกับหลักการแห่งการสั่นสะเทือนที่นำมาประยุกต์ใช้กับปรากฏการณ์ทางจิต บุคคลหนึ่งสามารถกำหนดทิศทาง (polarize) จิตใจของตนเองได้ในระดับใดก็ได้ที่เขาปรารถนา ดังนั้นจึงสามารถควบคุมสภาวะทางจิต อารมณ์ ฯลฯ ของตนได้อย่างสมบูรณ์

ในทำนองเดียวกัน เขาสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้อื่นได้ โดยกระตุ้นให้เกิดสภาวะทางจิตที่ต้องการในตัวพวกเขา กล่าวโดยสรุปคือ เขาอาจสามารถสร้างสิ่งที่วิทยาศาสตร์สร้างขึ้นบนระนาบกายภาพได้บนระนาบจิตใจ นั่นคือ ‘การสั่นสะเทือนตามต้องการ’ แน่นอนว่าพลังนี้สามารถได้รับผ่านการเรียนการสอนที่เหมาะสม การฝึกฝน การปฏิบัติ ฯลฯ เท่านั้น โดยที่ศาสตร์นี้ก็คือศาสตร์แห่งการแปรธาตุทางจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของศาสตร์แฝงเร้น

หากใคร่ครวญถึงสิ่งที่เรากล่าวมาเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจได้ว่า หลักการแห่งการสั่นสะเทือนนั้นเป็นรากฐานของปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ของพลังอำนาจที่แสดงออกมาโดยปรมาจารย์และผู้ชำนาญการ ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเขาสามารถเพิกเฉยต่อกฎธรรมชาติได้ แต่ในความเป็นจริง

พวกเขาเพียงแค่ใช้กฎข้อหนึ่งเพื่อต่อต้านอีกกฎหนึ่ง ใช้หลักการหนึ่งเพื่อต่อต้านอีกหลักการหนึ่ง และบรรลุผลลัพธ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงการสั่นสะเทือนของวัตถุหรือรูปแบบของพลังงาน จึงสามารถกระทำสิ่งที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ปาฏิหาริย์’ ได้

ดังที่หนึ่งในนักเขียนศาสตร์แฝงเร้นโบราณกล่าวไว้อย่างแท้จริงว่า: “ผู้ที่เข้าใจหลักการแห่งการสั่นสะเทือน ย่อมได้ครอบครองคทาแห่งอำนาจ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *