บทที่ 12 หลักการของเหตุและผล
“ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเหตุผล ทุกการกระทำย่อมมีผลลัพธ์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งที่เราเรียกว่า “โอกาส” หรือ “ความบังเอิญ” จริงๆ แล้วก็คือกฎของธรรมชาตินั่นเอง เพียงแต่เรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เท่านั้น มีกฎธรรมชาติมากมายหลายระดับ แต่ทุกอย่างล้วนต้องอยู่ภายใต้กฎเหล่านี้” – The Kybalion
หลักการเฮอร์เมทิคส์ข้อที่ 6 อันยิ่งใหญ่ — หลักเหตุและผล (Principle of Cause and Effect) — ซึ่งได้บรรจุความจริงแท้ว่า กฎธรรมชาติมีอิทธิพลต่อทุกสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้จากความบังเอิญ คำว่า “บังเอิญ” ก็แค่อีกคำที่เราใช้เรียกเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เรายังไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ ปรากฏการณ์ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีขาดตอนหรือมีข้อยกเว้น
หลักเหตุและผล (Principle of Cause and Effect) เป็นรากฐานของกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ และเป็นหนึ่งในหลักการที่เหล่าปรมาจารย์เฮอร์เมทิคส์ประกาศมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
แม้จะมีข้อโต้แย้งกันมากมายระหว่างสำนักคิดต่างๆ แต่ความขัดแย้งมักจะเป็นเรื่องการทำงานของหลักการนี้ในภาพรวม บางครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆ อย่างความหมายของคำที่ใช้ แต่หลักการเหตุและผลพื้นฐานนี้เป็นหลักการที่แทบจะทุกสำนักคิดบนโลกที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงเห็นตรงกันหมด
ความจริงอย่างอื่นไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับหลักการนี้ หากเราไม่ยอมรับ เราต้องมองว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกไม่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผล ไร้กฎเกณฑ์ เป็นสิ่งที่ควบคุมโดยสิ่งเร้นลับสมมติที่เราชอบเรียกว่า ความบังเอิญ
ถ้าลองตรองคิดดูดีๆ ทุกคนจะเห็นได้ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะ “ความบังเอิญ” อย่างที่เราชอบเข้าใจผิดกัน พจนานุกรมให้นิยามของคำว่า “บังเอิญ” หรือ “Chance” เป็น: “ตัวแสดง (agent) หรือ ตัวขับเคลื่อน (mode of activity) ที่อยู่เหนือพลังธรรมชาติ เหนือกฎต่างๆ และจุดประสงค์ อิทธิพลหรือการกระทำของตัวแสดงเหล่านี้ หรือผลกระทบจากตัวแสดงเหล่านี้ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด (happening) ความบังเอิญ อุบัติเหตุ เป็นต้น”
แต่หากเราพิจารณาให้ดี ตัวตนแบบ “บังเอิญ” ที่อยู่เหนือกฎธรรมชาติ เหนือหลักเหตุและผลแบบนี้ไม่น่าจะมีอยู่จริง แล้วอิทธิพลที่ทำงานอยู่ในจักรวาลเรา จะไม่ยึดโยงกับกฎ ระเบียบ วินัยหรือ การเรียงต่อกันของเหตุการณ์บนโลกได้อย่างไร? ถ้ามีจริง
พลังลึกลับนี้ต้องอยู่นอกเหนือจากระเบียบของจักรวาลและเหนือกว่าจักรวาลด้วย แต่เราก็ไม่อาจจินตนาการว่าจะมีสิ่งใดอยู่นอกเหนือจาก สรรพสิ่งทั้งมล (THE ALL) และไม่ปฏิบัติตามกฎได้ เพราะสรรพสิ่งทั้งมวล (THE ALL) นั้นแหละคือ กฎของธรรมชาติ
ไม่มีพื้นที่เหลือในจักรวาลให้กับสิ่งที่อยู่เหนือกฎและไม่ทำตามกฎอีกแล้ว หากมีอะไรแบบนั้นอยู่จริง มันก็จะทำให้กฎธรรมชาติทั้งหลายใช้ไม่ได้ผล และผลักดันให้จักรวาลเข้าสู่ภาวะไร้ระเบียบ!
หากเราศึกษาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “บังเอิญ” นั้นเป็นแค่คำนามที่เราใช้กับเหตุการณ์ที่มีสาเหตุซับซ้อนที่เราไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ คำว่า “บังเอิญ” หรือ “Chance” มาจากคำที่มีความหมายว่า “การหล่น” (เหมือนการที่ลูกเต๋าตกลงมา)
จุดเริ่มต้นของความคิดของแนวคิดนี้คือ การตกลงมาของลูกเต๋า และปรากฏการณ์ต่างๆมากมายเป็นแค่ “เหตุการณ์” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยใดๆ เลย ซึ่งเรามักจะเข้าใจคำนี้อยู่แบบนี้
แต่หากพิจารณากันให้ดี จะพบว่าไม่มีสิ่งใดที่บังเอิญเกิดขึ้นได้เลยในการทอยลูกเต๋า แต่ละครั้งที่ลูกเต๋าตก และปรากฏหน้าลูกเต๋าใดขึ้นมานั้น ลูกเต๋าได้ปฏิบัติตามกฎที่ตายตัวไม่ต่างจากกฎที่ควบคุมการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เลย
เบื้องหลังการตกของลูกเต๋ามีเหตุและปัจจัย หรือสายใยของเหตุและปัจจัย ที่ยาวไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ตำแหน่งของลูกเต๋าในกล่อง พลังงานจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทอย สภาพของโต๊ะที่ทอย เป็นต้น เหล่านี้เป็น “เหตุ” ของ “ผล” ที่เราเห็น แต่เบื้องหลัง “เหตุ” ที่เห็นอยู่ชัดๆนั้น ยังมีสายใยของเหตุและปัจจัยที่เราไม่เห็นซ่อนอยู่อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อหน้าลูกเต๋าที่จะตกลงมา
ลองโยนลูกเต๋าหลายๆ ครั้ง เราจะพบว่าหน้าลูกเต๋าที่ได้จะปรากฏขึ้นมาเท่าๆ กัน เช่นหน้า 1 แต้ม 2 แต้ม เป็นต้น จะขึ้นมาในจำนวนที่ใกล้เคียงกันมาก หรือถ้าเราโยนเหรียญจำนวนมากพอ ผลลัพธ์หัวและก้อยก็จะออกมาใกล้เคียงกัน
นี่แหละคือหลักการของ “ค่าเฉลี่ย” แต่ไม่ว่าเราจะวัดผลเป็นค่าเฉลี่ย หรือวัดจากการโยนครั้งเดียว ทั้งหมดก็ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งเหตุและผลอยู่ดี ถ้าเราสามารถตรวจสอบย้อนหาสาเหตุเบื้องหลังทั้งหมดได้
เราจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะได้หน้าลูกเต๋าตามที่ปรากฏออกมา มันเป็นไปไม่ได้เลยที่การโยนลูกเต๋าภายใต้ปัจจัยเดียวกันจะทำให้ได้ผลลัพธ์ต่างออกไป ปัจจัยเดียวกันจะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์เดียวกันเสมอ ทุกปรากฏการณ์จะต้องมีสาเหตุหรือชุดของเหตุและปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันเสมอ ไม่มีอะไรในโลก “เกิดขึ้นลอยๆ” โดยไม่มีสิ่งใดเป็นต้นเหตุ
บางคนอาจเกิดความสับสนเมื่อนำหลักการเหตุและผลนี้ไปพิจารณา เพราะหาคำตอบไม่ได้ว่าจะทำยังไงให้สิ่งๆ หนึ่งสามารถไป “เป็นเหตุ” ให้ “สิ่งอื่น” เกิดขึ้น หรือ “สร้าง” ให้สิ่งที่สองเกิดขึ้นมาได้
แต่จริงๆ แล้ว ไม่เคยมี “สิ่งของ” ใดๆ ไปทำให้เกิด “สิ่งอื่น” หรือไป “สร้าง” “สิ่งอื่น” ได้เลย หลักเหตุและผล (Cause and Effect) ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเท่านั้น “เหตุการณ์” (event) ก็คือ “สิ่งที่ตามมา เป็นผลลัพธ์ หรือเกิดขึ้นต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้” ไม่มีเหตุการณ์ไหนไปสร้างเหตุการณ์อื่น
แต่มันเป็นแค่ส่วนเชื่อมต่อหนึ่งในสายใยของเหตุการณ์ทั้งหลายที่ไหลออกมาอย่างเป็นระเบียบจากพลังสร้างสรรค์ของสรรพสิ่งทั้งมวล (THE ALL) . เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นล้วนมีความเชื่อมโยงกัน
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปหมด เช่น หินก้อนหนึ่งที่หลุดตกลงมาจากภูเขา และไปทะลุหลังคาบ้านในหุบเขาเบื้องล่าง แรกเห็นเราก็มองว่าเป็นความบังเอิญ แต่ถ้าเราศึกษาให้ดี
เราจะเห็นสายใยของเหตุและปัจจัยมากมายเบื้องหลัง จุดเริ่มต้นคือฝนที่ทำให้ดินที่คอยพยุงหินให้มั่นคงนิ่มลง จนเกิดการพังทลาย ก่อนจะมีฝน ก็จะต้องเป็นเพราะอิทธิพลจากพระอาทิตย์ หรือปริมาณน้ำฝนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเร่งให้หินค่อยๆ หลุดออกมาจากก้อนใหญ่
ต่อมาก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ภูเขาลูกนี้เกิดขึ้นมา หรือการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และอื่นๆ อีกมากมาย เรายังอาจจะศึกษาสาเหตุเบื้องหลังฝนที่ตกลงมาได้อีก หรือจะศึกษาต้นกำเนิดของหลังคาก็ย่อมได้ สรุปก็คือ เราจะพบว่าตัวเองกำลังติดแหง็กอยู่กับเครือข่ายของเหตุและผลมากมาย และในที่สุดก็จะมึนจนถอนตัวไม่ขึ้น
เหมือนกับที่เรามีพ่อและแม่ 2 คน ปู่ย่าตายาย 4 คน มีทวด 8 คน มีพ่อแม่ของทวด 16 คน หากนับย้อนไปสัก 40 รุ่น ตัวเลขบรรพบุรุษของเราจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นหลายล้านคน นี่ก็คล้ายๆ กับสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ธรรมดาๆ สักหนึ่งอย่าง เช่น ฝุ่นผงเล็กๆ ที่ลอยผ่านตาเราไป
เราคงจะลำบากมากที่จะตามรอยฝุ่นผงนี้ไปถึงช่วงเวลาเริ่มแรกของโลก ที่ฝุ่นผงนี้เกิดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ถูกแปรสภาพกลายเป็นถ่านหิน และผ่านกระบวนการมากมาย
จนกระทั่งกลายมาเป็นฝุ่นผงที่ลอยผ่านตาเราไป และเริ่มต้นการเดินทางใหม่ สายใยของเหตุและปัจจัยมากมายเป็นสิ่งที่ทำให้ฝุ่นผงนี้อยู่ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งสภาพปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในสายใยของเหตุและปัจจัยที่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์อื่นๆ อีกในอีกหลายๆ ร้อยปีต่อจากนี้
หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะฝุ่นผงนี้ก็คือการที่ผู้เขียนบทความนี้ ได้เขียนถ้อยคำเหล่านี้ลงไป ทำให้ช่างเรียงพิมพ์ทำงาน พนักงานพิสูจน์อักษรทำงาน และจะยังกระตุ้นให้เกิดความคิดในหัวคุณ และคนอีกมากมาย ซึ่งความคิดเหล่านี้ก็จะไปส่งผลกระทบต่อผู้คนอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ซึ่งเราไม่อาจติดตามไปได้ไกลกว่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากฝุ่นผงเล็กๆ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ทุกอย่างมีผลกระทบต่อเนื่องกันไปหมด ในสายตาแห่ง “จิต” ที่เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่ง จึงไม่มีคำว่าใหญ่ หรือ เล็ก
ลองหยุดคิดสักนิด ในยุคหินที่ห่างไกลจากเราไปมากๆ หากชายและหญิงคู่หนึ่งไม่ได้พบกัน คุณที่กำลังอ่านข้อความนี้อยู่ก็อาจจะไม่ได้เกิดมาบนโลกนี้ และถ้าหากบังเอิญทั้งสองคนไม่ได้เจอกัน คนเขียนอย่างเราก็คงไม่ได้อยู่ตรงนี้
การที่เราเขียนบทความนี้และการที่คุณอ่าน จะไม่ใช่แค่ส่งผลต่อชีวิตของเรากับคุณเท่านั้น แต่จะมีผลกระทบทั้งโดยตรงและอ้อมต่อผู้คนอีกมากมายที่ยังมีชีวิตอยู่ และจะเกิดมาในอนาคต ทุกความคิด ทุกการกระทำ ล้วนมีผลที่ตามมาทั้งแบบตรงๆ และอ้อม ซึ่งจะเข้ามาสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งของสายใยเหตุและผล
เราไม่ได้ตั้งใจจะหยิบยกเรื่อง “เจตจำนงเสรี” (Free Will) หรือ “การกำหนดชะตาฟ้า” (Determinism)มาพูดถึงตอนนี้ ด้วยหลากหลายเหตุผล เหตุผลหลักๆ คือแนวคิดทั้งสองนี้ต่างก็ไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด ความจริงแล้วทั้งสองฝั่งถูกต้องบางส่วน
ตามที่หลักการเฮอร์เมทิคส์ได้สอนไว้. หลักขั้วตรงข้าม (Principle of Polarity) สอนเราว่าทั้งสองแนวคิดนี้เป็นเพียง “ความจริงครึ่งเดียว” หรือขั้วตรงข้ามของสัจธรรม ศาสตร์โบราณสอนเราว่า มนุษย์สามารถมีอิสรภาพ
และยังถูกผูกมัดได้ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราตีความหมายของคำอย่างไร และมองเรื่องนี้จากจุดสูงสุดของสัจธรรมระดับไหน นักเขียนในสมัยโบราณอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า ยิ่งสรรพสิ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางมากเท่าใดก็จะยิ่งถูกผูกมัด ยิ่งสรรพสิ่งเคลื่อนเข้าใกล้จุดศูนย์กลางก็จะยิ่งใกล้คำว่า “อิสระ” มากเท่านั้น
คนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และอื่นๆ แสดง “อิสรภาพ” ออกมาได้น้อยมาก พวกเขามักโน้มเอียงไปตามความคิดเห็น ขนบธรรมเนียม ของโลกภายนอก รวมถึงอารมณ์
ความรู้สึกของตัวเองไม่แสดงออกถึงความเป็น “นาย” ตามนิยามของคำคำนี้ พวกเขาจะยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างจริงจัง โดยกล่าวว่า “อ้าว ฉันมีอิสระจะทำตามใจได้นี่ ทำอะไรก็ทำตามใจฉันทั้งนั้น” แต่พวกเขาอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดถึง “อยาก” ทำในสิ่งที่ทำ หรือ “พอใจ” ในสิ่งที่เป็นอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความ “อยาก” ในตัวพวกเขา อะไรทำให้ตัวเอง “พอใจ” ที่จะเลือกทำสิ่งนี้มากกว่าสิ่งนั้น สิ่งที่เขา “พอใจ” “อยาก” มันจะมี “เหตุผล” สนับสนุนไหม?
เหล่าปรมาจารย์เฮอร์เมทิคส์สามารถย้ายสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ “พอใจ” หรือ “อยาก” ไปอยู่อีกด้านของขั้วตรงข้ามได้ พวกเขาสามารถ “เลือกที่จะเลือก” แทนที่จะเลือกทำเพราะอารมณ์ ความรู้สึก หรืออิทธิพลภายนอกเป็นตัวกระตุ้น
คนส่วนใหญ่มักจะใช้ชีวิตเหมือนกับก้อนหินที่ร่วงหล่น ไร้ความสามารถในการควบคุม เชื่อฟังสภาพแวดล้อม อิทธิพลภายนอก อารมณ์ความรู้สึกตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจของความต้องการ และเจตจำนงของบุคคลอื่นที่แข็งแกร่งกว่า พันธุกรรม สภาพแวดล้อม
คำแนะนำสิ่งเหล่านี้คือตัวแปรที่จะควบคุมชักจูง พวกเขาจะไม่แสดงออกถึงความเป็น “นาย” แม้แต่น้อย เหมือนกับเบี้ยเดินบนกระดาน เล่นไปตามบทบาทที่ถูกกำหนด เมื่อเกมจบก็ถูกเก็บลงกล่อง แต่เหล่าปรมาจารย์ที่เข้าใจกฎของเกมชีวิตจะสามารถยกระดับตัวเองให้พ้นจากความเป็นวัตถุทางกายภาพ
พวกเขาสร้างความเชื่อมโยงกับพลังแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้ควบคุมอารมณ์ จิตใจ คุณสมบัติ และขั้วตรงข้ามภายในตัวตน รวมถึงสร้างอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว พวกเขากลายเป็นผู้เล่น ไม่ใช่แค่เบี้ย เป็นเหตุไม่ใช่แค่ผลกระทบ
เหล่าปรมาจารย์ไม่ได้หลุดพ้นจากกฎแห่งเหตุและผลในระนาบความคิดที่เหนือกว่า แต่เลือกที่จะอยู่ใต้กฎแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ จึงใช้มันปัดเป่า อุปสรรคในโลกทางวัตถุ ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจึงมีส่วนร่วมในการสร้างกฎธรรมชาติอย่างรู้ตัว ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือที่ถูกครอบงำ แม้จะยังคงเป็นผู้คอยรับใช้ในระนาบความคิดที่สูงกว่า พวกเขาก็สามารถเป็นผู้ครอบครองในโลกทางวัตถุ
ไม่ว่าจะสูงส่งหรือต่ำต้อย กฎธรรมชาติก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหรอก คำว่า “บังเอิญ” เทพธิดาแห่งโชคสายตาพิการถูกล้มล้างไปด้วยเหตุและผล ผ่านความรู้ เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติสากล
กฎที่ดูเหมือนมีมากมายมหาศาลนั้น แท้จริงแล้วคือการแสดงออกอีกรูปแบบหนึ่งของ “กฎเดียว” อันยิ่งใหญ่ หรือ กฎแห่งสรรพสิ่งทั้งมวล (THE ALL) จริงแท้ทีเดียวที่ไม่ว่าจะนกกระจอกตัวน้อยร่วงหล่นลงมา ก็จะต้องอยู่ในสายตาของจิตแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย (THE ALL) แม้แต่เส้นผมของเราก็ถูกนับเอาไว้หมด
เฉกเช่นที่พระคัมภีร์ได้สอนไว้ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่อยู่นอกเหนือกฎธรรมชาติ และจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแบบขัดแย้ง แต่ก็อย่างเข้าใจผิดคิดว่ามนุษย์เป็นแค่หุ่นยนต์ที่ไร้ความคิด เราอย่าลืมน่ะ ศาสตร์แห่งเฮอร์เมทิคส์สอนเราว่า
มนุษย์สามารถใช้กฎธรรมชาติ เพื่อก้าวข้ามผ่านกฎต่างๆ ได้ และจิตตานุภาพที่แข็งแกร่งกว่าย่อมเอาชนะจิตตานุภาพที่อ่อนแอกว่าเสมอ จนกว่าจะถึงระดับหนึ่งที่เหล่าปรมาจารย์จะเข้าถึงกฎธรรมชาติดั้งเดิมของจักรวาล และมองข้ามผ่านกฎปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเข้าใจ เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในไหม?