บทที่ 14 เพศภาวะภายใน
นักจิตวิทยาที่ติดตามแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางจิตใจต้องสะดุดตากับแนวคิดความเป็นคู่ของจิตที่ฝังรากลึก อันเป็นแนวคิดที่แสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงสิบถึงสิบห้าปีที่ผ่านมา และได้จุดประกายทฤษฎีมากมายที่ดูสมเหตุสมผลเกี่ยวกับธรรมชาติและโครงสร้างของ “สองจิต” ในตัวเรา
ทอมสัน เจ.ฮัดสัน ผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับความนิยมอย่างสูงในปี 1893 ด้วยการนำเสนอทฤษฎีที่โด่งดังเรื่อง “จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก” ซึ่งเขาเชื่อว่าดำรงอยู่ในตัวบุคคลทุกคน ในเวลาใกล้เคียงกัน
นักเขียนท่านอื่นๆ ก็ดึงดูดความสนใจได้เทียบเท่ากันด้วยทฤษฎีอย่าง “จิตที่รู้ตัวและจิตที่ไม่รู้ตัว”, “จิตที่ควบคุมได้และจิตที่ควบคุมไม่ได้”, “จิตที่กระทำและจิตที่รับกระทำ” เป็นต้น ทฤษฎีเหล่านี้มีความแตกต่างกัน แต่หัวใจสำคัญที่ทุกทฤษฎีมีร่วมกันคือ แนวคิด “ความเป็นคู่ของจิต”
นักศึกษาปรัชญาเฮอร์เมสย่อมอดขำไม่ได้ เมื่ออ่านและได้ยิน “ทฤษฎีใหม่” มากมายเกี่ยวกับความเป็นคู่ของจิตเหล่านี้ แต่ละสำนักต่างยึดถือทฤษฎีโปรดของตนอย่างเหนียวแน่น พร้อมอ้างว่าตนนั้นแหละที่ “ค้นพบความจริง”
หากนักศึกษาย้อนกลับไปเปิดหน้าประวัติศาสตร์ลึกลับของโลก กลับไปสู่จุดกำเนิดอันเลือนรางของคำสอนเวทมนตร์ ท่านจะพบว่ามีการกล่าวถึงหลักการเฮอร์เมสโบราณว่าด้วยหลักการแห่งเพศบนระดับจิต
นั่นคือการแสดงออกของเพศทางจิต เมื่อศึกษาต่อไป ท่านจะพบว่าปรัชญาโบราณได้ตระหนักถึงปรากฏการณ์ “สองจิต” และอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎีเพศทางจิต แนวคิดเรื่องเพศทางจิตนี้ อาจอธิบายคร่าวๆ ได้สำหรับนักศึกษาที่คุ้นเคยกับทฤษฎีสมัยใหม่ที่เราเพิ่งกล่าวถึง
หลักการเพศชายของจิตนั้น สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า จิตสำนึก, จิตที่รู้ตัว, จิตที่ควบคุมได้, จิตที่กระทำ เป็นต้น ขณะที่หลักการเพศหญิงของจิตนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า จิตใต้สำนึก, จิตที่ไม่รู้ตัว, จิตที่ควบคุมไม่ได้, จิตที่รับกระทำ และอื่นๆ
แน่นอน คำสอนแห่งเฮร์เมสไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฎีสมัยใหม่มากมายเกี่ยวกับธรรมชาติของสองภาวะแห่งจิต และไม่ได้ยอมรับข้อเท็จจริงต่างๆ ที่แต่ละทฤษฎีนำเสนอเกี่ยวกับสองภาวะนี้ โดยบางทฤษฎีหรือการอ้างสิทธิ์นั้น ค่อนข้างจะเกินเลยและไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลองหรือสาธิต
จุดที่เราชี้ให้เห็นถึงความสอดคล้องกันบางประการ ก็เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถผนวกความรู้ที่เคยได้รับมากับคำสอนของปรัชญาเฮอร์เมสเท่านั้น ผู้อ่านงานของฮัดสันจะพบข้อความช่วงต้นบทที่สองของหนังสือ “The Law of Psychic Phenomena” ซึ่งกล่าวว่า “ศัพท์แสงอันลึกลับของเหล่านักปรัชญาเฮอร์เมสเปิดเผยแนวคิดทั่วไปเดียวกัน” นั่นคือ แนวคิดเรื่องความเป็นคู่ของจิต
หากดร.ฮัดสันยอมสละเวลาพยายามถอดรหัส “ศัพท์แสงอันลึกลับ” ของปรัชญาเฮอร์เมสบ้าง เขาอาจได้พบกับความกระจ่างมากมายเกี่ยวกับหัวข้อ “สองจิต” แต่ถึงอย่างนั้น หากเป็นเช่นนั้น ผลงานที่น่าสนใจที่สุดของเขาอาจจะไม่ได้ถูกเขียนขึ้นก็ได้ เอาล่ะ…มาพิจารณาต่อกันดีกว่าว่าคำสอนเฮอร์เมสอธิบายเรื่องเพศทางจิตอย่างไร
ครูผู้สอนศาสตร์เฮร์เมสได้ถ่ายทอดแนวทางในหัวข้อนี้ ด้วยการให้นักศึกษาของพวกเขาสำรวจสิ่งที่จิตสำนึกของตนรายงานกลับมาเกี่ยวกับตนเอง นักศึกษาจะถูกชี้แนะให้หันความสนใจเข้ามาภายใน สู่ตัวตนที่สถิตอยู่ภายในแต่ละคน นักศึกษาแต่ละคนจะเริ่มพบว่าจิตสำนึกของเขาได้รายงานถึงการมีอยู่ของตัวตนออกมา
รายงานนั้นก็คือคำว่า “ฉันเป็น” ในตอนแรกนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อความสุดท้ายที่มาจากจิตสำนึก แต่นักศึกษาที่พินิจละเอียดลงไปอีก จะค้นพบความจริงที่ว่า “ฉันเป็น” นี้อาจถูกแยกออกเป็นสองส่วนหรือสองภาวะที่แตกต่างกัน ซึ่งแม้จะทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง แต่ก็ยังอาจแยกแยะได้ในระดับจิตสำนึก
ในตอนแรก ราวกับว่ามีเพียงแค่ “ฉัน” ดำรงอยู่ แต่เมื่อสำรวจอย่างถี่ถ้วนและลึกซึ้งมากขึ้น เราจะพบความจริงที่ว่า ยังมีทั้ง “ฉัน” และ “ตัวฉัน” อยู่ แฝดทางจิตคู่นี้มีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างออกไป
การพิจารณาลักษณะของทั้งสอง รวมถึงปรากฏการณ์ที่เกิดจากความแตกต่างนี้ จะช่วยไขความกระจ่างให้กับปัญหาเกี่ยวกับอิทธิพลทางจิตได้เป็นอย่างมาก ขอให้เราเริ่มต้นด้วยการพิจารณา “ตัวฉัน” ซึ่งเหล่านักศึกษามักเข้าใจผิดว่าเป็น “ฉัน” นั่นเอง ก่อนที่จะขุดคุ้ยสำรวจลึกลงไปอีกในส่วนลึกของจิตสำนึก
แต่ดูเหมือนเราจะด่วนสรุปไปเสียหน่อย “ตัวฉัน” ของคนจำนวนมากอาจประกอบขึ้นโดยส่วนใหญ่จากความรับรู้ตัวตนที่ผูกติดกับร่างกายและความอยากทางกาย เป็นต้น ด้วยจิตสำนึกของคนเหล่านี้ถูกมัดไว้กับธรรมชาติทางร่างกาย พวกเขาจึงยึดติดว่าตน “ดำรงอยู่ตรงนั้น”
บางคนถึงกับคิดว่าเครื่องแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของ “ตัวฉัน” และมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตนเองอย่างแท้จริง นักเขียนท่านหนึ่งเคยกล่าวติดตลกว่า “มนุษย์ประกอบด้วยสามส่วน นั่นคือ วิญญาณ กาย และเสื้อผ้า” คนกลุ่มที่หมกมุ่นกับเรื่องเครื่องแต่งกายนี้จะสูญเสียอัตลักษณ์ของตนไป
หากวันหนึ่งเรือแตกและพวกเขาถูกคนเถื่อนปล้นจนเหลือแต่ตัว อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ยึดติดกับเครื่องแต่งกายมากนัก ก็ยังรู้สึกว่าร่างกายของตนคือตัวตนที่แท้จริง พวกเขาไม่อาจจินตนาการถึงตัวตนที่ดำรงอยู่ได้อิสระจากร่างกาย ดูเหมือนว่าในความคิดของคนเหล่านี้ จิตของตนก็เป็นแค่เพียง “สิ่งหนึ่งที่เป็นของ” ร่างกาย ซึ่งอันที่จริง ในบางกรณีก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
แต่เมื่อมนุษย์ยกระดับจิตสำนึก เขาจะมีความสามารถในการแยกแยะ “ตัวฉัน” ออกจากภาพลักษณ์ความเป็นร่างกาย และเริ่มมองว่าร่างกายเป็นเพียง “สิ่งที่เป็นของ” ส่วนที่เป็นจิตใจ
อย่างไรก็ตามแม้ในขั้นนี้ เรามักจะยังติดกับดัก ที่จะระบุว่า “ตัวฉัน” นั้นคือสถานะทางจิต อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ ที่เราสัมผัสได้ภายใน เรามักจะหลงคิดว่าสภาวะภายในเหล่านี้คือตัวตนแท้จริง แทนที่จะมองว่ามันเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบางส่วนของจิต และดำรงอยู่ในตัวเรา เป็นของเรา ภายในเรา แต่ยังคงไม่ใช่ “ตัวเรา”
เมื่อเรามองลึกเข้าไป เราจะพบว่าสภาวะอารมณ์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพลังจิต และเราสามารถสร้างความรู้สึกหรือสภาวะที่ตรงข้ามกันขึ้นมาด้วยวิธีเดียวกัน แต่กระนั้น “ตัวฉัน” หลักนั้นยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจึงสามารถกันสถานะทางจิต อารมณ์ ความรู้สึก นิสัย คุณสมบัติ ลักษณะเฉพาะ และสัมภาระทางจิตส่วนตัวอื่นๆ ออกไปได้ เราจะวางมันลงในกลุ่ม “ไม่ใช่ตัวฉัน” ที่เต็มไปด้วยทั้งสิ่งแปลกประหลาด อุปสรรค และสมบัติล้ำค่า กระบวนการนี้ต้องใช้สมาธิอย่างมากและต้องมีพลังในการวิเคราะห์จิตใจ
สำหรับผู้ฝึกฝนขั้นสูงงานนี้อาจทำได้ แต่แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ก้าวหน้าถึงขั้นนั้น ก็สามารถมองเห็นได้ผ่านจินตนาการว่ากระบวนการนี้อาจทำได้จริง
หลังจากกระบวนการคัดแยกนี้สำเร็จ ผู้ฝึกฝนจะพบว่าตนครอบครองตัวตนอย่างมีสติ ซึ่งอาจพิจารณาได้ในมุมมองคู่ของ “ฉัน” และ “ตัวฉัน” “ตัวฉัน” จะถูกสัมผัสได้เป็นบางสิ่งทางจิตใจ เป็นพื้นที่ที่ความคิด แนวคิด อารมณ์ ความรู้สึก และสภาวะทางจิตอื่นๆ ก่อตัวขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “มดลูกทางจิต” ตามวิธีที่ปราชญ์โบราณเรียกไว้
ซึ่งมีความสามารถในการให้กำเนิดลูกหลานทางจิตสารพัดรูปแบบ “ตัวฉัน” จะรายงานต่อจิตสำสำนึกว่านี่คือ “ตัวฉัน” ผู้มีพลังแฝงในการสร้างสรรค์และกำเนิด พลังสร้างสรรค์นี้ดูมหาศาล
แต่กระนั้นดูเหมือนว่า “ตัวฉัน” ยังรู้สึกว่าจำเป็นต้องได้รับพลังงานบางรูปแบบมาจาก “ฉัน” คู่หู หรือจาก “ฉัน” อื่นเสียก่อน จึงจะสามารถเนรมิตสรรพสิ่งทางจิตให้เป็นรูปเป็นร่างได้ ความตระหนักรู้ถึงความสามารถนี้จะนำมาซึ่งความเข้าใจว่าเรามีศักยภาพมหาศาลในการทำงานทางจิตและความคิดสร้างสรรค์
แต่ผู้ฝึกฝนจะค้นพบเร็วๆ นี้ว่า สิ่งที่เขาพบภายในจิตสำนึกมิได้มีเพียงเท่านี้ เขาจะตระหนักถึงบางสิ่งทางจิต ที่มีความสามารถในการ “ออกคำสั่ง” ให้ “ตัวฉัน” ดำเนินการไปตามแนวทางแห่งการสร้างสรรค์
และยังมีความสามารถที่จะแยกตัวออกมายืนสังเกตดูการสร้างสรรค์ทางจิตได้ด้วย เขาถูกสอนให้เรียกส่วนนี้ของตนเองว่า “ฉัน” และเขาจะสามารถเข้าสู่จิตสำนึกของ “ฉัน” ได้อย่างตั้งใจ ซึ่งที่นั่น เขาจะพบว่า มิใช่จิตสำนึกของความสามารถในการกำเนิดและสร้างสรรค์อย่างกระตือรือร้น
หากแต่เป็นความรู้สึกว่ามีความสามารถในการส่งผ่านพลังงานจาก “ฉัน” ไปสู่ “ตัวฉัน” กระบวนการนี้คือการ “ออกคำสั่ง” ให้การสร้างสรรค์ทางจิตนั้นเริ่มต้นขึ้นและดำเนินต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น เขายังพบว่า “ฉัน” สามารถแยกตัวออกมาเพื่อสังเกตการสร้างสรรค์ทางจิตของ “ตัวฉัน” ได้ จิตของทุกคนจึงมีสองภาวะเช่นนี้ “ฉัน” หมายถึง หลักการเพศชายของเพศทางจิต ขณะที่ “ตัวฉัน” แทนหลักการเพศหญิง “ฉัน” แทนภาวะแห่งการดำรงอยู่ ส่วน “ตัวฉัน” แทนภาวะแห่งการเป็นการเกิด
ท่านจะสังเกตได้ว่าหลักการความสอดคล้องกันทำงานที่ระดับนี้ เช่นเดียวกับที่มันทำงานที่ระดับมหภาคซึ่งเป็นที่ที่จักรวาลต่างๆ ถูกสร้างขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้คล้ายคลึงกันในเชิงคุณสมบัติ ทว่าแตกต่างกันมากในเชิงระดับ “เบื้องบนเป็นเช่นไร เบื้องล่างก็เป็นเช่นนั้น เบื้องล่างเป็นเช่นไร เบื้องบนก็เป็นเช่นนั้น
เมื่อพิจารณาภาวะต่างๆ ของจิต ทั้งหลักการเพศชายและเพศหญิง ทั้ง “ฉัน” และ “ตัวฉัน” ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ทางจิตและพลังจิตอันเป็นที่รู้จักกันดีแล้วนั้น เราได้พบกญแจหลักที่จะช่วยคลี่คลายแง่มุมที่ลึกลับเกี่ยวกับการทำงานและการแสดงออกออกของจิต
หลักการแห่งเพศทางจิตนี้จะเผห้เราเข้าใจความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ อาทิเช่นอิทธิพลทางจิต ธรรมชาติของหลักการเพศหญิงมักจะเอนเอียงไปทางการรับสิ่งเร้า ขณะที่หลักการเพศชายมักมีน้อมไปทางการปล่อยออกหรือการแสดงออก
หลักการเพศหญิงนั้นมีขอบข่ายการทำงานที่หลากหลายกว่าเพศชาย ทำหน้าที่ในการกำเนิดความคิด แนวคิด และจินตนาการใหม่ๆ ในขณะที่หลักการเพศชายมักพอใจในหน้าที่ของ “จิตตานุภาพ” ในรูปแบบต่างๆ
แต่กระนั้นหากปราศจากความช่วยเหลือของจิตตานุภาพจากหลักการเพศชาย หลักการเพศหญิง ก็มีแนวโน้มจะหลงเพลิดเพลินไปกับการสร้างภาพมายาในจิตที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอก มากกว่าที่จะกำเนิดดสิ่งสร้างสรรค์ทางจิตที่แท้จริงออกมา
บุคคลที่มีความสามารถในการใช้สมาธิให้ความคิดกับเรื่องหนึ่งๆ อย่างต่อเนื่อง จะใช้หลักการทางจิตทั้งสองด้านอย่างคล่องแคล่ว ทั้งหลักการเพศหญิงในการสร้างสรรค์ทางจิตอย่างกระตือรือร้น และจิตตานุภาพตามหลักการเพศชายเพื่อกระตุ้นและเติมพลังให้ห้ส่วนที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์ของจิต
คนส่วนใหญ่จริงๆจะใช้หลักการเพศชายน้อยมาก และยินดีพอใจจะดำเนินชีวิตตามความคิดและแนวคิดที่ “ฉัน” ของจิตคนอื่นหยอดลงมาใส่ “ตัวฉัน” แต่นั่นมิใช่หัวข้อที่เราตั้งใจจะมาเจาะลึกกัน ซึ่งท่านอาจศึกษาได้จากตำราจิตวิทยาทั่วไป
โดยใช้กุญแจเรื่องเพศทางจิตที่เราได้มอบให้ไปแล้วไขความเข้าใจ นักศึกษาด้านปรากฏการณ์ทางจิตย่อมตระหนักดีถึงปรากฏการณ์อันน่ามหัศจรรย์ต่างๆ ที่ถูกจัดหมวดว่า สัมผัสพิเศษ, การถ่ายทอดความคิด, อิทธิพลทางจิต, การชี้นำ, การสะกดจิต ฯลฯ
หลายคนได้พยายามหาคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์หลากหลายเช่นนี้ภายใต้ทฤษฎี “สองจิต” ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็ถือว่าถูกต้อง เพราะเราสังเกตได้จริงว่ามีสองภาวะที่แตกต่างกันของการทำงานของจิต แต่นักศึกษาเหล่านี้ หากพิจารณา “สองจิต” นี้ภายใต้แสงสว่างแห่งคำสอนเฮอร์เมสเรื่องการสั่นสะเทือน และเพศทางจิตแล้ว พวกเขาจะเห็นว่ากุญแจสำคัญที่แสวงหานั้น อยู่ใกล้แค่เอื้อม
หากเราสังเกตปรากฏการณ์สื่อจิตหรือโทรจิต เราจะเห็นได้ว่า พลังงานสั่นสะเทือนของหลักการเพศชายนั้นถูกส่งไปยังหลักการเพศหญิงของอีกบุคคลหนึ่งอย่างไร ฝ่ายหลังรับเอาความคิดที่เป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ไป และปล่อยให้ห้มันเติบโตจนสมบูรณ์ การชี้นำและการสะกดจิตก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน
หลักการเพศชายของผู้ชี้นำจะส่งกระแสพลังงานสั่นสะเทือนหรือจิตตานุภาพไปสู่หลักการเพศหญิงของอีกฝ่าย และฝ่ายรับจะยอมรับและดำเนินการหรือคิดตามคำชี้นำนั้น แนวคิดที่ถูกหยอดลงไปในจิตใจอีกบุคคลหนึ่งจึงเติบโตและเจริญงอกงาม จนในที่สุดถูกมองว่าเป็นความคิดที่ชอบธรรมของบุคคลนั้น ทั้งๆที่แท้จริงแล้วมันก็เปเหมือนไข่นกคัคคูในรังนกกระจอกที่เข้ามาทำลายลูกนกดั้งเดิมและตั้งฮุบรังไว้แต่เพียงตัวมัน
วิธีการดั้งเดิมที่เป็นปกควรคือ หลักการเพศชายและเพศหญิงในความคิดของแต่ละบุคคลนั้นควรประสานงานและทำงานทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง แต่น่าเสียดายที่หลักการเพศชายของคนทั่วไปนั้นขี้เกียจเกินกว่าจะลงมือทำ
การแสดงออกของจิตตานุภาพนั้นมักอ่อนแอ ทำให้คนเหล่านี้ถูกครอบงำโดยจิตใจและพลังจิตของคนอื่น เพราะเขาปล่อยให้ผู้อื่นคิดและตัดสินใจแทนตน ในโลกนี้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยมีความคิดดั้งเดิมหรือการกระทำที่เป็นของตัวเองเลยมิใช่หรือ
พวกเขาไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเงาและเสียงสะท้อนของคนอื่นที่มีพลังจิตเข้มแข็งกว่า ปัญหาคือ คนทั่วไปมักหมกมุ่นอยู่กับจิตสำนึกในส่วน “ตัวฉัน” และไม่ตระหนักว่าตนมีสิ่งที่เรียกว่า “ฉัน” เหล่านี้ถูกขั้วหลักการเพศหญิงในจิตใจครอบงำ ส่วนหลักการเพศชายซึ่งเป็นที่อยู่ของพลังจิตนั้นกลับถูกปล่อยละเลยให้เฉเฉดือน
ผู้หญิงและชายผู้เข้มแข็งของโลกย่อมแสดงออกซึ่งหลักการเพศชายผ่านทางพลังจิต และความเข้มแข็งของพวกเขาเกิดขึ้นได้เพราะข้อเท็จจริงนี้ พวกเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตแค่รับสิ่งเร้าที่คนอื่นประทับไว้ในใจ แต่เลือกที่จะควบคุมความคิดของตนเองด้วยพลังจิต เนรมิตภาพในใจตามที่ต้องการ
และยิ่งไปกว่านั้น ยังครอบงำจิตใจผู้อื่นด้วยวิธีการเดียวกัน หากพิจารณาคนเก่งเหล่านั้น ท่านจะเห็นว่าพวกเขาฝังเมล็ดพันธุ์ความคิดของตนในจิตใจคนหมู่มากได้อย่างไร และทำให้พวกเขาคิดตามความปรารถนาและพลังจิตของตนเอง
นี่คือสาเหตุที่คนหมู่มากถึงเป็นดั่งฝูงแกะ ไม่เคยริเริ่มความคิดด้วยตนเองหรือแม้แต่ใช้พลังในความคิดของตนเลยด้วยซ้ำ การแสดงออกของเพศทางจิตสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
บุคคลที่มีเสน่ห์ดึงดุดใจนั้นคือคนที่ใช้หลักการเพศชายอย่างชำนาญในการหยอดความคิดของตนลงไปในตัวผู้อื่น นักแสดงที่ทำให้ผู้ชมร้องไห้หรือหัวเราะตามที่เขาต้องการก็กำลังใช้หลักการนี้
เช่นเดียวกับนักพูดผู้ประสบความสำเร็จ นักการเมือง นักเทศน์ นักเขียน หรือบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอิทธิพลพิเศษที่บางคนแผ่ให้คนอื่นๆ นั้น ก็เป็นเพราะการแสดงออกของเพศทางจิตเช่นกัน
ตามหลักการสั่นสะเทือนดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ในหลักการนี้เองที่ซ่อนความลับของเสน่ห์ส่วนตัว อิทธิพลอันมีต่อบุคคลอื่น ความหลงใหล ฯลฯ รวมถึงปรากฏการณ์ที่เรามักจัดหมวดให้เป็นเรื่องราวของการสะกดจิต
นักศึกษาที่คุ้นเคยกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราเรียกว่า “ปรากฏการณ์ทางจิต” จะพบว่ามีพลังชนิดหนึ่งที่วิทยาศาสตร์เรียกว่า “การชี้นำ” มีบทบาทสำคัญอยู่ในปรากฏการณ์เหล่านี้ การชี้นำหมายถึงกระบวนการหรือวิธีการในการถ่ายทอดแนวคิดไปยัง หรือ “ประทับ” ไว้ในจิตใจของผู้อื่น ส่งผลให้จิตใจที่รองรับนั้นดำเนินการคล้อยตาม
ความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับการชี้นำมีความจำเป็น หากต้องการเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตหลากหลายชนิดที่ใช้การชี้นำเป็นพื้นฐาน ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้เรื่องการสั่นสะเทือนและเพศทางจิต ก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการชี้นำ เพราะหลักการทั้งหมดของการชี้นำนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเพศทางจิตและการสั่นสะเทือน
เป็นธรรมเนียมของนักเขียนและครูผู้สอนเรื่องการชี้นำ ที่มักจะอธิบายว่าเป็นจิตสำนึกส่วน “รู้ตัว” หรือจิต “ที่ควบคุมได้” ที่สร้างรอยประทับทางจิต หรือการชี้นำใส่ลงไปในจิต “ที่ไม่รู้ตัว” หรือจิต “ที่ควบคุมไม่ได้” แต่พวกเขามิได้บรรยายกระบวนการดังกล่าว หรือหยิบยกเอาอุปมาใดๆ ในธรรมชาติมาให้เราทำความเข้าใจแนวคิดนี้ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากท่านพิจารณาดูภายใต้หลักคำสอนเฮอร์เมส ท่านจะเห็นว่าการเติมพลังแก่หลักการเพศหญิงด้วยพลังงานสั่นสะเทือนจากหลักการเพศชายนั้น เป็นไปตามกฎสากลแห่งธรรมชาติ โลกเราเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่เปรียบเทียบได้ ซึ่งจะช่วยให้ให้เข้าใจหลักการนี้
แท้จริงแล้วคำสอนเฮอร์เมสแสดงให้เห็นว่า กระทั่งการสร้างจักรวาลก็ดำเนินไปตามกฎเดียวกันนี้ และในการแสดงออกของการสร้างสรรค์ทั้งหมด ไม่ว่าจะบนระดับจิตวิญญาณ ระดับจิตใจ หรือระดับกายภาพ ล้วนแล้วแต่มีหลักการเรื่องเพศนี้ทำงานอยู่เบื้องหลัง
นั่นคือการแสดงออกของหลักการเพศชายและเพศหญิง “เบื้องบนเป็นเช่นไร เบื้องล่างก็เป็นเช่นนั้น เบื้องล่างเป็นเช่นไร เบื้องบนก็เป็นเช่นนั้น” ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลักการเพศทางจิตถูกหยิบจับและเข้าใจแล้ว
ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่หลากหลายที่ครั้งหนึ่งดูมืดมนก็จะสามารถจัดประเภทและศึกษารายละเอียดได้อย่างกระจ่างแจ้ง หลักการนี้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติเพราะมันตั้งอยู่บนกฎสากลแห่งชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
เราจะไม่เจาะลึกหรืออธิบายรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับอิทธิพลทางจิตหรือกิจกรรมทางพลังจิตต่างๆ เพราะมีตำราดีๆ มากมายที่เขียนและตีพิมพ์ในหัวข้อนี้ช่วงนี้ ความเป็นจริงหลักที่กล่าวถึงในหนังสือเหล่านี้ถูกต้อง
แม้ว่านักเขียนแต่ละท่านได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ด้วยทฤษฎีโปรดเฉพาะตัวของตน หากนักศึกษาทำความคุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้เสียก่อน แล้วใช้ทฤษฎีเพศทางจิตเป็นเครื่องมือ ท่านก็จะสามารถจัดระเบียบให้กับความสับสนวุ่นวายของทฤษฎีที่ขัดแย้งกันมากมายทั้งหลายแหล่
นอกจากนี้ท่านจะสามารถเป็นเจ้าแห่งหัวข้อนี้ได้อย่างง่ายดายหากนั่นเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนา จุดประสงค์ของงานนี้มิใช่เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางจิต แต่เพื่อมอบกุญแจสำคัญให้แก่นักศึกษา
เพื่อที่ท่านจะสามารถค้นหาประตูมากมายที่นำไปสู่ส่วนต่างๆ ของวิหารแห่งปัญญาได้ตามต้องการ เราเชื่อว่า การพิจารณาคำสอนในคัมภีร์ไคบาเลียนนี้ จะให้คำอธิบายที่จะช่วยชี้แจงความยุ่งยากใจต่างๆ ให้กระจ่าง นี่คือกุญแจที่จะปลดล็อกประตูหลายบาน
หากเรามอบวิธีการให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักทุกแง่มุมของหัวข้อที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่แล้วจะเป็นประโยชน์อันใดต่อการลงลึกในรายละเอียดของปรากฏการณ์ทางจิตและวิทยาศาสตร์ทางจิตทุกชนิด ด้วยความช่วยเหลือของคัมภีร์ไคบาเลียน ท่านย่อมสามารถเดินสำรวจคลังแห่งความรู้ลึกลับได้ราวกับเป็นครั้งแรก
แสงสว่างโบราณจากอียิปต์จะช่วยส่องทางนำไปสู่หน้ากระดาษอันมืดมิดและเรื่องราวที่คลุมเครือ นั่นคือจุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ เราไม่ได้มาเพื่อเผยแพร่ปรัชญาใหม่ หากแต่ส่งมอบเค้าโครงของคำสอนโบราณอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้คำสอนของผู้อื่นกระจ่างแจ้ง จะช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยยิ่งใหญ่ให้กับทฤษฎีที่แตกต่างกันและหลักคำสอนที่ขัดแย้งกัน